วันพฤหัสบดีที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ไขมันสะสมคั่งในตับ (NASH)


 ไขมันสะสมคั่งในตับ (NASH)
                โรคไขมันคั่งสะสมในตับ คือภาวะที่มีการสะสมของไขมัน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปของไตรกลีเซอรายด์ อยู่ในเซลล์ของตับซึ่งอาจมีเพียงแค่ไขมันคั่งอยู่ในเซลล์ตับ หรือมีอาการอักเสบของตับร่วมด้วย โดยทั่วไปแล้วจะมีสาเหตุต่างๆ มากมายที่สามารถทำให้เกิดภาวะไขมันคั่งสะสมในตับได้ สาเหตุที่พบบ่อยคือจากการดื่มสุรา, ยาบางชนิด หรือสารพิษ, ภาวะขาดสารอาหาร, ภาวะทองแดงคั่งในร่างกาย (Wilson’s Disease) เป็นต้น แต่ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะภาวะไขมันคั่งสะสมในตับ ที่ไม่ได้เกิดการจากดื่มสุรา ซึ่งทางการแพทย์เรียกภาวะนี้ว่า Non-Alcoholic Fatty Liver Disease (NAFLD) แต่ถ้ามีการอักเสบของตับร่วมกับมีการบวมของเซลล์ตับร่วมด้วย ก็จะเรียกภาวะนี้ว่า Non-Alcoholic Steato Hepatitis (NASH)
เซลที่ตับปกติ

เซลที่ตับมีไขมันพอก

 ไขมันคั่งสะสมในตับพบได้บ่อยขนาดไหน
          มีการศึกษาทั้งจากประเทศทางอเมริกาและญี่ปุ่น พบว่ามีประชากรประมาณร้อยละ 10-20 มีภาวะไขมันคั่งสะสมในตับโดยการตรวจด้วยวิธี อัลตราซาวด์ และประมาณร้อยละ 1-3 ของประชากร จะมีการอักเสบของตับ หรือที่เรียกว่า NASH ร่วมด้วย และถ้าดูผู้ป่วยที่มาตรวจด้วยเรื่อง ภาวะตับอักเสบเรื้อรังที่ไม่ได้เกิดจากไวรัสตับอักเสบบี, ซี, การดื่มสุรา, หรือรับประทานยา แล้วพบว่าร้อยละ 60 ของผู้ป่วยจะมีภาวะไขมันคั่งสะสมในตับ ที่อาจเป็นสาเหตุของตับอักเสบเรื้อรัง สำหรับในประเทศไทยยังไม่ได้มีการศึกษาอย่างจริงจังแต่ก็พบว่าภาวะไขมันคั่งสะสมในตับเป็นสาเหตุของตับอักเสบเรื้อรัง ที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยที่มาตรวจเรื่องตับอักเสบเรื้อรัง
 สาเหตุ
          สาเหตุของการเกิดไขมันคั่งสะสมในตับ ที่ไม่ได้เกิดจากการสูบบุหรี่นั้น ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด ในปัจจุบันคิดว่ามีหลายสาเหตุ ความรู้จากการศึกษาในปัจจบันพบว่าภาวะที่ร่างกายดื้อต่ออินซูลินเป็นปัจจัยที่สำคัญของการเกิดภาวะไขมันคั่งสะสมในตับ หลังจากนั้นอาจจะมีปัจจัยหรือกลไกอื่นอีกที่มากระตุ้นให้เกิดการอักเสบและการตายของเซลล์ตับ ซึ่งกลุ่มอาการที่สัมพันธ์ต่อการดื้อต่ออินซูลินนี้เรียกว่า Insulin Resistant Syndrome ซึ่งผู้ป่วยมักจะมีอาการต่อไปนี้ร่วมด้วย คือ
1.  อ้วน ซึ่งมักจะอ้วนที่ลำตัวมากกว่าแขนขา
2.  เป็นเบาหวาน
3.  มีไขมันในเลือดสูง
4.  มีความดันโลหิตสูง
           พบว่าร้อยละ 60 ของผู้ป่วยที่มีไขมันคั่งสะสมในตับ จะมีภาวะดื้อต่ออินซูลินร่วมด้วย อย่างไรก็ตามผู้ป่วยบางรายอาจจะไม่แสดงอาการดื้อต่ออินซูลินให้เห็น ส่วนปัจจัยที่ทำให้เกิดการอักเสบของตับนั้นจะมีได้หลายปัจจัยที่นอกเหนือไปจากภาวะดื้อต่ออินซูลิน เช่น สารพิษ และยาบางชนิด
 อาการและอาการแสดง
            ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะไม่มีอาการ มักจะตรวจพบโดยบังเอิญจากการมาเจาะเลือดเช็คสุขภาพ ในบางรายอาจมีอาการปวดแน่นบริเวณใต้ชายโครงขวา ในบางรายอาจจะมีอาการอ่อนเพลียง่าย เมื่อโรคตับเป็นมากแล้ว ตรวจร่างกายผู้ป่วยมักจะพบว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติยกเว้นอาจจะพบว่าผู้ป่วยอาจจะอ้วน ซึ่งมักจะเป็นอ้วนแบบลงพุง และในกรณีผู้ป่วยที่มีตับแข็งแล้วก็อาจตรวจเจอลักษณะของโรคตับเรื้อรังหรือตับแข็งร่วมด้วย การเจาะเลือดดูการทำงานของตับอาจจะพบค่า AST กับค่า ALT สูงกว่าปกติประมาณ 1.5 เท่า ถึง 4 เท่า อาจจะมีค่าALP สูงขึ้นเล็กน้อยส่วนค่าอื่นๆ มักจะอยู่ในเกณฑ์ปกติ
ภาวะไขมันคั่งสะสมในตับมีอันตรายหรือไม่
           ภาวะไขมันคั่งสะสมในตับอาจแบ่งได้เป็น 4 ชนิด โดยแบ่งตามพยาธิสภาพของชิ้นเนื้อตับ ดังนี้
ชนิดที่ 1 ชนิดนี้จะมีแต่ไขมันคั่งสะสมในเซลล์ตับอย่างเดียว แต่ไม่มีการอักเสบของตับ ร่วมด้วย
ชนิดที่ 2 ชนิดนี้จะมีไขมันคั่งสะสมในเซลล์ตับ ร่วมกับมีการอักเสบของตับเล็กน้อย
ชนิดที่ 3 ชนิดนี้จะมีไขมันคั่งสะสมในเซลล์ตับ และมีการบวมโตของเซลล์ตับ
ชนิดที่ 4 จะเป็นแบบชนิดที่ 3 แต่มีการตายของกลุ่มเซลล์ตับ และอาจมีผังผืดในตับร่วมด้วย
       ชนิดที่ 1 และ 2 มักจะสบายดี แม้ว่าจะติดตามไปเป็นระยะเวลา 10-20 ปี ก็ยังปกติดีไม่มีอาการของโรคตับเรื้องรังเกิดขึ้น แต่ไขมันคั่งสะสมในตับชนิดที่ 3 และ 4 จะมีการดำเนินโรคจนเกิดตับแข็งได้ถึงร้อยละ 20-28 ในเวลา 10 ปี  ดังนั้น จะว่าแม้ว่าโดยรวมดูเหมือนว่าภาวะไขมันคั่งสะสมในตับไม่รุนแรงแต่ผู้ป่วยที่เป็นชนิดที่ 3 และ 4 จะมีการดำเนินโรคไปเป็นตับแข็งและอาจเสียชีวิตได้   ไม่ต่างจากไวรัสตับอักเสบเรื้องรัง ปัจจุบันข้อมูลยังบ่งชี้ว่า ตับอักเสบเรื้องรังจากภาวะไขมันคั่งสะสมในตับ อาจก่อให้เกิดมะเร็งตับได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่มีตับแข็งแล้ว
จะตรวจได้อย่างไรว่ามีไขมันคั่งสะสมในตับ
1. โดยการเจาะเลือดดูการทำงานของตับว่ามีการอักเสบ (ค่า AST, ALT สูงกว่าปกติ) ดูระดับ   น้ำตาล, ระดับไขมันในเลือดว่าสูงกว่าปกติ
2. ตัดสาเหตุที่อาจทำให้เกิดภาวะไขมันคั่งสะสมในตับออกไปก่อน เช่นการดื่มสุรา,  การรับประทานยา, ตับอักเสบจากไวรัสซี, และ Wilson’s Disease เป็นต้น
3. การตรวจอัลตราซาวด์ จะพบว่าตับอาจมีขนาดโตขึ้น และมีลักษณะขาวขึ้นกว่าไตและม้าม
4. ตรวจโดยวิธีเอ็กซ์เรย์ คอมพิวเตอร์ (CT SCAN) หรือเอ็กซ์เรย์ สนามแม่เหล็ก (MRI)
5. เจาะชิ้นเนื้อตับออกมาตรวจทางพยาธิวิทยา
             โดยทั่วไปเรามักจะทำการวินิจฉัยโดยวิธีที่ 3 และ 4 ข้อแรก จะพิจารณาเจาะชิ้นเนื้อตับมาตรวจเฉพาะในรายที่มีการอักเสบของตับร่วมด้วย และไม่ตอบสนองต่อการรักษาเบื้องต้นเพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรค และประเมินความรุนแรงของโรคหรือในกรณีที่คิดว่าภาวะอักเสบของตับอาจจะเกิดสาเหตุอื่นร่วมด้วย
จะรักษาไขมันคั่งสะสมในตับอย่างไร
           การรักษาที่สำคัญและได้ประโยชน์มากในผู้ป่วยไขมันคั่งสะสมในตับ คือ การลดน้ำหนัก ในกรณีที่ผู้ป่วยอ้วน ซึ่งควรลดน้ำหนักโดยการควบคุมปริมาณและคุณภาพอาหารกล่าวคือ หลีกเลี่ยงการทานอาหารทีมีไขมันสูง เช่น นม เนย กะทิ ชีส กุ้ง ปูไข่ ไข่แดงและเนื่องจากไตรกลีเซอรายด์เป็นตัวสำคัญที่สะสมคั่งในตับก็ต้องพยายามหลีกเลี่ยงไม่รับประทานอาหารที่มีแป้งและน้ำตาลมากเกินไป ควรลดปริมาณอาหารลงด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในมื้อเย็น ที่สำคัญควรมีการออกกำลังการอย่างสม่ำเสมอ เพราะจะเป็นการลดน้ำหนักอย่างถูกสุขภาพ และเป็นการช่วยสลายไขมันออกจากตับได้ดี แต่พึงระวังว่าไม่ควรลดน้ำหนักด้วยวิธีการงดอาหาร และไม่ควรลดน้ำหนักเร็วเกินไป โดยทั่วไป  แนะนำให้ลดน้ำหนักลงประมาณ 1-2 กิโลกรัม / เดือน เพราะการลดน้ำหนักลงอย่างรวดเร็วโดยการงดอาหารอาจก่อให้เกิดตับอักเสบอย่างรุนแรงได้ การลดน้ำหนักนั้นควรลดลงมาอย่างน้อยร้อยละ 15 จากน้ำหนักเริ่มต้นหรือจนน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานรักษาควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นเบาหวานรักษา ควบคุมไขมันให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีไขมันในเลือดสูง หลีกเลี่ยงการรับประทานยาที่ไม่จำเป็น
             ข้อควรระวัง ยาที่ใช้ในการรักษาภาวะไขมันในเลือดสูงหลายตัวนั้นมีผลข้างเคียงทำให้เกิดตับอักเสบเอง จึงควรเริ่มต้นด้วยการควบคุมอาหารและออกกำลังกาย ก่อนจะใช้ยาต่อเมื่อมีข้อบ่งชี้ชัดเจน สำหรับยาที่ใช้ในการรักษาภาวะตับอักเสบเรื้องรังจากไขมันคั่งสะสมในตับ ส่วนใหญ่ยังอยู่ในช่วงของการศึกษาวิจัยแต่ยาที่มีการศึกษาพอควรและมีข้อมูลที่บ่งว่าน่าจะมีประโยชน์ มีดังนี้
1. Ursodexycholic Acid (UDCA) ยากลุ่มนี้มีการศึกษาพบว่า จะช่วยลดภาวะการอักเสบของตับลง และมีการทำงานของตับดีขึ้น ขนาดที่ใช้ในการรักษา คือ 12-15 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน ซึ่งต้องรับประทานระยะยาวเป็นเวลาประมาณ 1 ปี แต่ข้อมูลการศึกษาการรักษาเป็นเวลานาน 2 ปี ไม่แสดงประโยชน์ของการรักษาด้วยยาตัวนี้มากนัก
2. วิตามินอี ซึ่งจัดเป็น Anti-Oxidative Stress อันเป็นกลไกที่สำคัญของการเกิดตับอักเสบและการตายของเซลล์ตับ การศึกษาในเด็กพบว่า วิตามินอีช่วยลดการอักเสบของตับลงได้โดยรับประทานในขนาด 800-1,600 มิลลิกรัม ต่อวัน
3. Silymarin เป็นยาที่สกัดมาจากดอก Milk Thrisle ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำชาติของสก๊อตแลนด์ Silymarin ก็มีฤทธิ์เป็น Anti-Oxidative Strees นอกจากนี้ยังมีการศึกษาบ่งว่าอาจช่วยลดภาวะดื้อต่ออินซูลินลง ดังนั้นโดยฤทธิ์ของยาก็น่าจะมีประโยชน์ในการรักษาไขมันคั่งสะสมในตับ โดยออกฤทธิ์ทั้งลดการอักเสบและเพิ่มความไวต่ออินซูลิน
4. ยากลุ่มที่กระตุ้นความไวต่ออินซูลิน เช่น ยากลุ่ม Metformin พบว่าสามารถช่วยลดไขมันที่คั่งสะสมในตับและลดการอักเสบของตับลงได้
              นอกจากนี้ยังมีการศึกษายาตัวใหม่ๆ อีกหลายตัว ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นในกลุ่มที่มีฤทธิ์ Anti-Oxidative Stress กับกลุ่มที่ลดความดื้อต่ออินซูลิน ในประเทศที่มีการผ่าตัดเปลี่ยนตับ ก็มีการรักษาผู้ป่วยไขมันคั่งสะสมในตับ ที่มีตับแข็งรุนแรงหรือตับแข็งระยะสุดท้ายด้วยวธีการผ่าตัดเปลี่ยนตับ
ข้อมูลโดย
รองศาสตราจารย์นายแพทย์ธีระ พิรัชวิสุทธิ์
หน่วยโรคระบบทางเดินอาหารและตับ ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สงขลา 90110
ข้อมูลเพิ่มเติม

ภาวะไขมันเกาะตับพบบ่อยแค่ไหน ?
• มีความชุกของโรคไขมันเกาะตับ (NAFLD) สูงถึงร้อยละ 40 ของประชากรทั่วไป
• ไขมันเกาะตับพบได้บ่อยขึ้นในคนบางกลุ่ม เช่น
- คนอ้วนพบถึงร้อยละ 37-90
- ผู้ป่วยเบาหวานพบร้อยละ 50-62
ภาวะไขมันเกาะตับมักมีโรคอื่นที่พบร่วมด้วย• โดยเฉพาะภาวะอ้วนลงพุงหรือเมตาโบลิค ซินโดรม (Metabolic syndrome)• เบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลินพบได้ 1 ใน 3
• ไขมันในเลือดสูงพบได้ 2 ใน 3
• โรคอ้วนใช้เกณฑ์ดัชนีมวลกาย มากกว่า 28 กก./เมตร2
คำนวณโดย
ดัชนีมวลกาย = น้ำหนักตัว (กก.) / ส่วนสูง (เมตร)2 หรือใช้เส้นรอบเอวก็ช่วยบ่งชี้โรคอ้วนได้ โดยดูจากเอวมากกว่า 36 นิ้วในผู้ชาย หรือมากกว่า 32 นิ้วในผู้หญิง
การวินิจฉัยภาวะไขมันเกาะตับ

• มีความผิดปกติของค่าทำงานตับ
• มีประวัติดื่มแอลกอฮอล์น้อยมากคือ น้อยกว่า 20 กรัม/วัน หรือไม่ดื่มเลย และไม่พบสาเหตุอื่นๆของตับอักเสบเช่น ยาสมุนไพร โรคตับจากไวรัส เป็นต้น
• ผลการเจาะตับมีลักษณะพยาธิวิทยาที่พบไขมันแทรกอยู่เกินร้อยละ 5 และ/หรือมีการอักเสบร่วมด้วย
• ผลตรวจอัลตราซาวน์พบว่ามีไขมันเกาะตับ หมายเหตุ แอลกอฮอล์ 10 กรัม/วัน = เบียร์ 350 มล, ไวน์ 120 มล, หรือบรั่นดี 45 มล ซึ่งเรียกว่า 1 ดริ๊ง (drink)

วิธีการวินิจฉัยภาวะไขมันเกาะตับมีอะไรบ้าง
1. การเจาะตับ
2. การตรวจเลือดเพื่อแยกสาเหตุอื่น
3. ตรวจอัลตราซาวน์ตับ
เนื้อตับที่แพทย์เจาะมาช่วยบอกอะไรบ้าง ?• ช่วยบอกความรุนแรงของโรคว่าเนื้อตับมีการอักเสบ มีพังผืดมากน้อยเพียงใด และตับแข็งหรือไม่
ถ้ากลัวหรือกังวล และไม่ต้องการเจาะตับ จะวินิจฉัยโรคนี้ได้หรือไม่? อย่างไร ?วิธีตรวจหาพังผืดในตับแบบใหม่ หรือ ที่เรียกว่าไฟโบรสแกน (FibroScan) ใช้เวลาตรวจสั้นและ ไม่เจ็บ
เมื่อเป็นโรคไขมันเกาะตับ จะมีการดำเนินโรคอย่างไร?1. ผู้ป่วยไขมันเกาะตับที่มีภาวะอักเสบหรือมีพังผืดร่วมด้วย พบว่าร้อยละ 20 หรือ 1 ใน 5 กลายเป็นตับแข็งและร้อยละ 37 เริ่มมีพังผืดในตับ
2. มีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้ถึงร้อยละ 10 เมื่อได้รับการวินิจฉัยโรคมานาน 10 ปี
ผู้ป่วยกลุ่มใดที่จะมีการดำเนินโรคไปเป็นตับแข็ง ?โดยทั่วไปใช้เวลา 10 – 20 ปี กว่าจะเกิดตับแข็งและพบได้ 1 ใน 5 ของผู้ป่วย โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีภาวะต่างๆ ซึ่งจะพบว่าเป็นโรคตับแข็งได้เร็วขึ้น
• โรคอ้วน (BMI ยิ่งสูงยิ่งไม่ดี โดยเฉพาะค่า BMI ที่มากกว่า 35 กก./ม2)
• เบาหวาน
• อายุมากกว่า 45 ปี
• ค่าการทำงานตับมีอัตราส่วน AST/ALT มากกว่า 1
จะรักษาโรคไขมันเกาะตับที่มีภาวะอักเสบหรือมีพังผืดร่วมด้วย ได้หรือไม่ ? อย่างไร ?• การรักษาหลักคือมุ่งลดปัจจัยเสี่ยง เช่น เบาหวาน โรคอ้วน ไขมันในเลือดสูงที่พบร่วมด้วยให้ดี
• ควบคุมอาหารที่มีพลังงานสูงเกินความต้องการร่วมกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
• ยาที่มีการศึกษาว่าอาจช่วยลดการอักเสบของตับได้ เช่น วิตามินอีขนาดสูง ยาไพโอไกรตาโซน (pioglitazone) พบว่ายังไม่ลดภาวะพังผืดในตับ และจำเป็นต้องติดตาม ผลการรักษาในระยะยาวต่อไป
จะควบคุมหรือลดน้ำหนักให้ได้ผลได้อย่างไร ?• ลดน้ำหนักในอัตรา 2 กก./เดือน หรือลดเฉลี่ยร้อยละ 7-10 ของน้ำหนัก จะทำให้ค่าทำงานตับดีขึ้นทำได้โดยออกกำลังกาย เช่น การวิ่งหรือเดินเร็วหรือเต้นแอโรบิคนาน 30 นาทีจะเผาผลาญแคลอรีได้ประมาณ 130-170 กิโลแคลอรีและต้องทำต่อเนื่อง
• ต้องคุมปริมาณอาหาร น้ำหวาน ควบคู่ไปกับการลดน้ำหนักด้วย ดังตารางปริมาณพลังงานของอาหารจานเดี่ยว**
• ปริมาณแคลอรีที่ควรได้รับในแต่ละวันคิดเป็น 30 กิโลแคลอรี ต่อน้ำหนักตัวมาตรฐาน 1 กก./วัน เช่น ผู้ที่มีน้ำหนัก 60 กก. ควรได้รับพลังงาน 1800 กิโลแคลอรี/วัน
ตัวอย่างอาหารจานเดี่ยวและปริมาณพลังงาน (กิโลแคลอรี) **



รายการปริมาณพลังงาน
กิโลแคลอรี (Kcal)
เส้นหมี่ลูกชิ้นเนื้อวัวน้ำ 447 กรัม226
กระเพาะปลาปรุงสำเร็จ 392 กรัม239
ขนมจีนน้ำยา 435 กรัม332
ก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่เย็นตาโฟน้ำ 494 กรัม352
ก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่ราดหน้าหมู 354 กรัม397
ข้าวขาหมู 289 กรัม438
ข้าวแกงเขียวหวานไก่ 318 กรัม483
ก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็กแห้งหมู 235 กรัม530
ข้าวหมูแดง 320 กรัม540
ข้าวผัดใบกระเพราไก่ 293 กรัม554
ข้าวผัดหมูใส่ไข่ 315 กรัม557
ก๋วยเตี๋ยวผัดไทยใส่ไข่ 244 กรัม577
ข้าวมันไก่ 300 กรัม596


น้ำดี คืออะไร 
     น้ำดีจะถูกสร้างจากตับ และหลั่งมาตามท่อน้ำดี มาเก็บพักไว้ที่ถุงน้ำดี เพื่อทำให้น้ำดีเข้มข้นขึ้น เมื่ออาหารที่รับประทานผ่านมาถึงลำไส้เล็กส่วนต้นร่างกายจะมีการหลั่งฮอร์โมนไปกระตุ้นให้ถุงน้ำดีบีบตัว และขับน้ำดีให้ไหลลงสู่ท่อน้ำดี ซึ่งจะมีท่อนำน้ำย่อยที่ผลิตจากตับอ่อนไหลมารวมกันก่อน แล้วไหลลงสู่รูเปิดเดียวกันซึ่งมีลักษณะเป็นตุ่มเล็ก ๆ ลักษณะคล้ายหัวนมที่บริเวณลำไส้เล็กส่วนต้น
ปัจจัยที่ทำให้เกิดนิ่วทางเดินน้ำดี มี 3 สาเหตุหลัก ได้แก่ ความอิ่มตัวหรือเข้มข้นของน้ำดี การบีบตัวของถุงน้ำดีลดลง และการติดเชื้อในทางเดินน้ำดี โดยจะพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และพบได้บ่อยในอายุ 60 ปีขึ้นไป

อาหารที่ควรทาน

ถั่วเป็นพืชมหัศจรรย์หลายอย่าง เช่น มีโปรตีนสูง มีไขมันชนิดดี มีเส้นใยหรือไฟเบอร์ชนิดไม่ละลายน้ำสูง การดูดซึมน้ำตาลจากถั่วเข้าสู่กระแสเลือดช้า ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอย่างช้าๆ สูงนาน ทำให้อิ่มนาน (ค่าดัชนีน้ำตาล หรือ glycemic index ต่ำ, เหมาะกับท่านที่ต้องการลดความอ้วน ควบคุมน้ำตาล)
นมถั่วเหลืองมีดีตรงที่ไม่มีน้ำตาลแลคโทส ทำให้คนที่ไม่มีน้ำย่อยน้ำตาลนมมากพอ ดื่มนมถั่วเหลืองได้สบายๆ  การศึกษาใหม่จากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ทำการศึกษาในหนูผอม และหนูอ้วน ผลการศึกษาพบว่า โปรตีนถั่วเหลือง ซึ่งพบมากในเต้าหู้ (tofu), นมถั่วเหลือง น้ำเต้าหู้ มีส่วนช่วยป้องกันไขมันร้ายที่ชอบไปเกาะในเซลล์ตับในหนูอ้วน โดยลดไขมันในตับได้ 20%แถมยังลดระดับไขมันในเลือดชนิดไตรกลีเซอไรด์ (triglycerides / TG) ซึ่งเป็นผู้ช่วยฝ่ายร้าย ที่ทำให้โคเลสเตอรอลฝ่ายร้าย (LDL) แทรกซึมออกจากกระแสเลือด ผ่านผนังหลอดเลือด ไปสะสมเป็นคราบไขใต้ผนังหลอดเลือด ทำให้เกิดการอักเสบ และเพิ่มเสี่ยงหลอดเลือดตีบตัน
โรคไขมันเกาะตับ (fatty liver disease) ทำให้การทำงานของตับแย่ลง เพิ่มเสี่ยงเบาหวาน ตับอักเสบ และตับแข็ง
โรคอ้วน, อ้วนลงพุง (เส้นรอบเอวมากกว่า 90 ซม.ในผู้ชาย, 80 ซม.ในผู้หญิง), ระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงเพิ่มเสี่ยงไขมันเกาะตับ ซึ่งมักจะพบหลังดื่มหนัก หรือกินอาหารมื้อใหญ่ โดยเฉพาะอาหารที่มีแป้ง-น้ำตาลสูง
การศึกษาก่อนหน้านี้จากมหาวิทยาลัยเดลาแวร์ พบว่า การดื่มนมถั่วเหลือง 2 แก้ว/วัน ช่วยลดอาการร้อนวูบวาบ (hot flushes) หลังหมดประจำเดือนได้ 20%, และลดความรุนแรงของโลกได้ 26% อาการร้อนวูบวาบเกิดขึ้นนาน 4 นาทีโดยเฉลี่ย ผู้หญิงบางรายมีอาการเหงื่อแตก และอาจรบกวนการนอนหลับ นับเป็นความทุกข์ใหญ่ของผู้ที่มีอาการนี้
วิธีเลือกนมถั่วเหลืองที่สำคัญ คือ ควรดูฉลากอาหาร
1. น้ำตาลต่ำหรือไม่ > ชนิดเติมน้ำตาลมากไม่ค่อยดี      
2. ไขมันอิ่มตัว > นมถั่วเหลืองมีไขมันถั่วเหลือง ซึ่งมีไขมันอิ่มตัวต่ำ, นมถั่วเหลืองที่มีไขมันอิ่มตัวสูง มักจะเติมครีมเทียมที่ทำจากน้ำมันปาล์ม หรือเติมน้ำมันปาล์ม (ทำให้รสชาติหวานมันเพิ่ม แต่ไม่ดีกับสุขภาพ)      
3. เสริมแคลเซียมหรือไม่ > ชนิดเสริมแคลเซียมมีแนวโน้มจะดีกว่าชนิดไม่เสริม และควรเสริมให้ถึงระดับ 20-25% ของที่ร่างกายต้องการใน 1 วันจึงจะดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น