วันพฤหัสบดีที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

แอลกอฮอล์ทำให้ตับแข็ง


   แอลกอฮอล์ทำให้ตับแข็งได้อย่างไร
   ตับถือเป็นอวัยวะที่เสี่ยงต่อพิษภัยของแอลกอฮอล์อย่างมาก ระยะเวลาและปริมาณของแอลกอฮอล์ที่ดื่มเข้าไปมีผลโดยตรงต่อตับ


ยิ่งถ้าดื่มนานต่อเนื่องเป็นเวลามากกว่า  ๑๐ ปี ขึ้นไป ยิ่งมีโอกาสที่ตับจะเกิดปัญหาจากแอลกอฮอล์ได้ แม้กระนั้นก็ตาม ในบางรายอาจใช้เวลาไม่ถึง ๑๐ ปี
หากปริมาณที่บริโภคนั้นค่อนข้างสูง โดยทั่วไปแอลกอฮอล์จะทำให้เกิดอันตรายต่อตับในผู้หญิงได้ง่ายกว่าในผู้ชาย แม้จะดื่มในปริมาณที่น้อยกว่าก็ตาม ซึ่งอาจเกิดจากปัจจัยทางด้านฮอร์โมนบางชนิด
โรคตับที่เกิดจากผลของแอลกอฮอล์ แบ่งได้เป็น ๓ ประเภท คือ โรคไขมันสะสมในตับจากแอลกอฮอล์ โรคตับอักเสบจากแอลกอฮอล์ และโรคตับแข็ง
โรคไขมันสะสมในตับจากแอลกอฮอล์
          ภาวะนี้พบได้เป็นส่วนใหญ่ในผู้ที่ดื่มจัด แต่ถ้าหยุดดื่มแล้วจะสามารถกลับคืนสู่ภาวะปกติได้ ภาวะนี้เกิดจากความผิดปกติของการเผาผลาญ และการสร้างไขมัน อันเป็นผลมาจากแอลกอฮอล์ทำให้เกิดการสะสมของไขมันในเซลล์ตับ ทำให้เซลล์บวม ตับโต บางครั้งอาจมีอาการกดเจ็บร่วมด้วย โดยทั่วไปภาวะนี้มักไม่ค่อยแสดงอาการให้เห็น ทำให้เป็นผลเสียต่อผู้นั้น เนื่องจาก ไม่มีสัญญาณคอยบ่งเตือนว่า ร่างกายกำลังมีปัญหา ทั้งๆที่ความผิดปกติกำลังดำเนินอยู่ แต่ถ้าเกิดภาวะนี้อย่างรุนแรงก็จะมีอาการ ตัวเหลือง ตาเหลือง ที่เรียกว่า ดีซ่าน ท้อง บวมน้ำ และบวมตามแขนขาร่วมด้วยได้  ผู้ที่เกิดภาวะนี้อาจยังไม่รุนแรงถึงขั้นกลาย เป็นโรคตับแข็ง ซึ่งต่างจากผู้ที่เป็นโรคตับ อักเสบจากแอลกอฮอล์ ที่มีความเสี่ยงสูงมาก ที่จะกลายเป็นโรคตับแข็งในที่สุด
โรคตับอักเสบจากแอลกอฮอล์
          แอลกอฮอล์ทำให้เกิดการอักเสบของเซลล์ตับ ทำให้เกิดการเสื่อมและการตายของเซลล์ การซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของเซลล์ต่างๆเหล่านี้ มีผลทำให้โครงสร้างของเซลล์ตับผิดรูปร่าง ซึ่งเป็นสาเหตุอย่างหนึ่งที่นำไปสู่โรคตับแข็ง อาการของผู้ที่เป็นโรคตับอักเสบนี้จะแตกต่างกันไป ตั้งแต่ไม่มีอาการ มีอาการในระดับน้อย จนถึงอาการรุนแรงจนกระทั่งเสียชีวิตได้ โดยทั่วไปแล้วอาการมักประกอบด้วยปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน น้ำหนักลด อึดอัดในท้อง และตัวเหลืองตาเหลือง บางรายมีไข้สูงร่วมด้วย เมื่อตรวจร่างกายมักจะพบว่ามีตับโตและ กดเจ็บ ประมาณ ๑ ใน ๓ จะพบม้ามโต ในรายที่เป็นรุนแรงจะพบภาวะท้องบวมน้ำ เลือดออก แขนขาบวม และมีอาการสับสนเนื่องจากสมองร่วมด้วยได้ ถึงแม้ว่าเมื่อหยุดบริโภคแอลกอฮอล์ไปแล้ว จะทำให้อาการตัวเหลืองตาเหลือง ท้องบวมน้ำ หรือภาวะสับสนดีขึ้นก็ตาม แต่หากยังบริโภคแอลกอฮอล์ต่อไปอีก ก็จะนำไปสู่การอักเสบของ ตับต่อไปได้เรื่อยๆ  ในบางรายกว่าจะฟื้นตัว จากการอักเสบต้องใช้เวลานานมากประมาณ ๖ เดือน หรือมากกว่า ภาวะนี้จัดได้ว่าเป็นภาวะเบื้องต้นที่นำไปสู่การเกิดตับแข็งในโอกาสต่อไป
โรคตับแข็ง
          ถ้าการบริโภคแอลกอฮอล์ยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เซลล์ตับจะมีการถูกทำลายมากขึ้น ในที่สุด ตับจะฝ่อ เกิดภาวะ ที่เรียกว่า ตับแข็ง ส่วนใหญ่แล้วใช้เวลานานประมาณ ๑๐ ปี ผู้ที่ เกิดภาวะนี้จะมีอาการเบื่ออาหารผ่ายผอม ลักษณะแบบคนขาดอาหาร อ่อนเพลีย เลือดออกง่าย เกิดรอยช้ำตามตัวได้ง่าย เมื่อเกิดภาวะตับแข็ง จะทำให้การไหลเวียนของโลหิตในตับเป็นไปด้วยความลำบาก ทำให้ความดันในหลอดเลือด สูงขึ้น เกิดเส้นเลือดโป่งพอง อาจเป็นในบริเวณหลอดอาหาร ซึ่งเสี่ยงต่อการอาเจียนออกมาเป็นเลือด นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดภาวะน้ำในช่องท้องมากขึ้น ท้องจะบวมน้ำ โดยปกติแล้วตับจะทำหน้าที่กำจัดของเสียในร่างกาย เมื่อ เกิดภาวะตับแข็ง จะทำให้ตับทำหน้าที่นี้ได้ไม่ดี ผลที่ตามมาก็คือ ภาวะตับวาย และการทำงานของสมองสับสนได้ ถึงแม้ว่าโรคตับแข็งจะเป็นโรค ที่มีการดำเนินโรคอย่าง ต่อเนื่องก็ตาม แต่หากได้รับการรักษาที่เหมาะสม ร่วมไปกับการหยุดดื่มแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาด  อาจทำให้การดำเนินของโรคหยุดลงได้ ส่งผลให้สภาพการทำงานของร่างกายที่ดีขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น