วันพฤหัสบดีที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

สารอาหารไขมัน

สารอาหารกลุ่มไขมัน
หนึ่งในอาหาร 5 หมู่ ที่ร่างกายของเรามีความจำเป็นต้องการใช้ไขมันเพื่อหุ่มห่อเซลล์และเป็นพลังงาน

ไขมันสามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ 
1. กรดไขมันอิ่มตัว (Saturated Fatty Acids) คือเป็นไขมันเต็มตัวแล้ว คือ ธาตุคาร์บอน ไฮโดรเจนและออกซิเจนจับกันเป็นลูกโซ่โดยสมบูรณ์ และไม่มีช่องว่างเหลือที่จะทำปฏิกิริยากับสารใดๆ ในร่างกายได้ ดังนั้น ไขมันชนิดนี้จะอยู่ในรูปของแข็งในอุณหภูมิปกติ ไขมันจำพวกนี้จะพบมากใน ไขมันสัตว์ เช่น เนื้อหมู วัว และไขมันจากกะทิ มะพร้าว เนย ไข่แดงและอื่นๆ
2. กรดไขมันไม่อิ่มตัว (Unsaturated Fatty Acids) คือไขมันที่ธาตุ คาร์บอน ไฮโดรเจนและออกซิเจน จับกันยังไม่สมบูรณ์ นั่นคือ ยังมีช่องว่างในลูกโซ่เหลืออยู่ และพร้อมที่จะทำปฏิกิริยาและจับกับสารอื่นๆ ในร่างกายได้และพร้อมจะเปลี่ยนแปรสภาพเป็นสารอื่นๆ ได้ พบมากในน้ำมันปลาแซลมอน น้ำมันเมล็ดพันธุ์บอเรจ น้ำมันอีฟนิ่งพริมโรส น้ำมันจมูกข้าวสาลี และอื่นๆ

ไขมันมีประโยชน์อย่างไร
1. ไขมันเป็นอาหารสำคัญที่มีความจำเป็นต่อร่างกายและเป็น 1 ในอาหาร 5 หมู่ ที่มีประโยชน์ นอกเหนือจากโปรตีน คาร์โบไฮเดรท วิตามินและเกลือแร่
2. ไขมันช่วยในการดูดซึมของวิตามินที่ละลายในไขมัน (Fat soluble Vitamins) เช่น วิตามินเอ วิตามินดี วิตามินอี และวิตามินเค ซึ่งมีประโยชน์ต่อร่างกาย
3. ไขมันให้พลังงานแก่ร่างกายที่สูงที่สุดคือ 9 แคลอรี่ต่อ 1 กรัมของไขมัน ช่วยทำให้ร่างกายมีพลังงานที่จะทำงานและประกอบกิจวัตรประจำวัยได้ตามปกติ
4. ไขมันช่วยปกป้องและกันความร้อน รวมทั้งคอยควบคุมอุณหภูมิของร่างกายให้คงที่ โดยทำหน้าที่เป็นฉนวนกันความร้อน (Thermal Insulator) ของเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังและอวัยวะที่อยู่ภายในร่างกาย
5.ไขมันช่วยเป็นเสมือนกันชนให้ร่างกาย คือช่วยป้องกันการกระเทือนของอวัยวะภายในร่างกาย ที่เกิดจากแรงกระแทกหรือการเคลื่อนไหวอย่างแรงของร่างกาย ซึ่งคอยป้องกันการบาดเจ็บของอวัยวะภายในร่างกาย
6. ไขมันเป็นส่วนประกอบสำคัญของเนื้อเยื่อประสาทนั่นคือ เส้นประสาทของคนเราจะมีไขมันเป็นส่วนประกอบในอัตราที่สูง โดยเฉพาะจะหุ้มเส้นประสาท ช่วยในการป้องกันเส้นประสาทให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อถูกสั่งจากสมองไปยังกล้ามเนื้อและอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย
7. ไขมันเมื่อรวมกับโปรตีนก็คือ ไลโปโปรตีน (Lipoproteins) จะเป็นส่วนประกอบสำคัญของเซลล์ต่างๆ โดยเฉพาะผนังเซลล์และไมโตคอนเดรีย ส่วนนี้มีประโยชน์สำหรับคนเรามาก เพราะร่างกายของเราประกอบเป็นตัวตนด้วยเซลล์หลายๆ ล้านเซลล์ และเซลล์ของร่างกายเรา จะผลิตทุกวันเพื่อซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ นั่นคือ ถ้าขาดไขมัน ผนังเซลล์ของร่างกายเราก็จะอ่อนแอ เซลล์ที่ตายไปก็ไม่สามารถสร้างขึ้นมาใหม่ได้

ค่าปกติของไขมันในเลือดคือ 
- คอเลสเตอรอล (Cholesterol) ประมาณ 150-250 mg/dl
- ไตรกลีเซอไรด์ (Triglycerides) ประมาณ 35-160 mg/dl

ในร่างกายของเรา มีไขมันหลายชนิด ที่สำคัญได้แก่
1.ไขมันโคเลสเตอรอล
เป็นไขมันที่มีประโยชน์ เป็นส่วนประกอบของเซลล์ต่าง ๆ หากมีมากเกินไป ไขมันเหล่านี้จะไปสะสมอยู่ตามผนังหลอดเลือดแดงทั่วร่างกาย เช่น หลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดที่ไต หากมีการตีบตันของหลอดเลือด ก็ทำให้อวัยวะนั้นขาดเลือดไปเลี้ยง เกิดอาการต่าง ๆ ตามมา เช่น อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหัวใจ เรายังอาจแบ่งไขมันโคเลสเตอรอลได้ย่อย ๆ อีก ที่สำคัญ 2 ชนิด คือ
1.1 โคเลสเตอรอล ชนิดร้าย หรือ แอล-ดี-แอล
(Low Density Lipoprotein Cholesterol, LDL-C)
เป็นตัวที่มีบทบาทสำคัญในการสะสมในผนังของหลอดเลือดแดง ไขมันชนิดนี้ร่างกายสร้างขึ้นเองส่วนหนึ่ง และมาจากอาหารที่มีไขมันสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งไขมันสัตว์
1.2 โคเลสเตอรอล ชนิดดี หรือ เอช-ดี-แอล
(High Density Lipoprotein Cholesterol, HDL-C)
ไขมันชนิดนี้จะช่วยในการขนถ่ายโคเลสเตอรอลที่สะสมอยู่ออกมาทำลาย จึงช่วยป้องกันโรคหัวใจหลอดเลือด ดังนั้นหากยิ่งสูงจะยิ่งเป็นดี ไขมันนี้ร่างกายสร้างขึ้นเอง และจะสูงขึ้นในผู้ที่ออกกำลังแบบแอโรบิคอย่างสม่ำเสมอ
2. ไขมันไตรกลีเซอไรด์
เป็นไขมันอีกชนิดหนึ่งที่มาจากอาหารร่วมกับร่างกายสร้างขึ้นที่ตับ ไตรกลีเซอไรด์ เป็นแหล่งพลังงานสำคัญของร่างกาย โดยอาหารพวกแป้งและน้ำตาล รวมทั้งโปรตีนที่เหลือใช้ จะถูกเปลี่ยนเป็นไตรกลีเซอไรด์และถูกเก็บสะสมไว้ที่ชั้นไขมันเพื่อเป็นพลังงานสำรอง ไขมันชนิดนี้ปัจจุบันมีข้อมูลบ่งชี้ว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่อ้วน เป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูงและมีระดับ เอช-ดี-แอล โคเลสเตอรอลต่ำ

จะทราบได้อย่างไรว่ามีภาวะไขมันในเลือดสูงหรือไม่
ท่านที่มีอายุมากกว่า 20 ปี ควรวัดระดับไขมันในเลือดทุก ๆ 5 ปี ในการตรวจเลือดควรงดอาหารก่อนตรวจประมาณ 12-14 ชม. หากคุณมีระดับตัวเลขไขมันต่าง ๆ แล้ว ลองตรวจสอบค่ากับตารางมาตรฐานได้ง่าย ๆ ตามตาราง

ไขมันในเลือดสูง อันตรายอย่างไร
    ภาวะไขมันในเลือดสูง เป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดแข็งตัว โดยเมื่อโคเลสเตอรอลสะสมอยู่ในเส้นเลือดเป็นเวลานาน โคเลสเตอรอลจะจับเกาะบริเวณผนังเส้นเลือด ทำให้เส้นเลือดแข็งตัว และเสียความยืดหยุ่นหรือไปอุดตันทางเดินโลหิต ทำให้หัวใจทำงานหนักมากขึ้น เป็นสาเหตุของโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ซึ่งอาจทำให้เป็นอัมพาต หรือเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ดังที่กล่าวมาแล้ว นอกจากนี้อาจเกิดเส้นเลือดในสมองแตกหรือเกิดหัวใจวายได้
การมีระดับ แอล-ดี-แอล โคเลสเตอรอล (LDL-C) มากกว่า 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร จัดเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการเกิดภาวะหลอดเลือดแข็ง และยังพบว่า คนที่มีปริมาณระดับ เอช-ดี-แอล โคเลสเตอรอล (HDL-C) น้อยกว่า 40 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร จะมีโอกาสเป็นโรคหัวใจขาดเลือดมากกว่าคนที่มี เอช-ดี-แอล โคเลสเตอรอล สูง
ขอขอบคุณข้อมูล สีลมการแพทย์




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น