วันเสาร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2556

เครื่องมือเอกซ์เรย์ของแพทย์ที่ล้ำสมัย

เครื่องมือเอกซ์เรย์ของแพทย์ที่ล้ำสมัย
เครื่องตรวจวินิจฉัยโรคเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan)

เครื่องตรวจวินิจฉัยโรคเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan)
การตรวจ CT scan คืออะไร?
การตรวจ CT scan เป็นการตรวจหาความผิดปกติอวัยวะต่างๆ ในร่างกายด้วยลำแสงเอกซ์ โดยฉายลำแสงเอกซ์ผ่านอวัยวะที่ต้องการตรวจในแนวตัดขวาง และให้คอมพิวเตอร์สร้างภาพ ภาพที่ได้จึงเป็นภาพตัดขวางส่วนที่ต้องการตรวจอย่างละเอียด โดยมีข้อบ่งชี้ของการตรวจดังนี้

ตรวจหาเนื้องอกในอวัยวะต่างๆ รวมทั้งตำแหน่งและขนาดของเนื้องอก
ตรวจหาการแพร่กระจายของเนื้องอกไปยังต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ ใกล้เคียง
ตรวจดูการคั่งของเลือดในสมอง ช่องท้อง และอุ้งเชิงกราน
ตรวจหาความผิดปกติของหลอดเลือด เช่น เส้นเลือดโป่งพอง เส้นเลือดอุดตัน เป็นต้น
ตรวจหาความผิดปกติของกระดูก และข้อต่อต่างๆ เช่น การหัก การหลุด และการอักเสบ เป็นต้น
ปัจจุบันการตรวจ CT scan แบ่งเป็น 4 ระบบคือ

ระบบสมอง ได้แก่ การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ของสมอง
ต่อมใต้สมอง ตา ต่อมน้ำลาย และคอ เป็นต้น ในการตรวจนี้ จะต้องฉีดสารทึบรังสีเข้าทางหลอดเลือดดำ เพื่อช่วยให้เห็นพยาธิสภาพของโรคชัดเจนขึ้น
เครื่องตรวจวินิจฉัยโรคเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan)

ระบบช่องท้องและทรวงอก ได้แก่ การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ภายในช่องท้องและอุ้งเชิงกราน การตรวจระบบนี้ ผู้ป่วยต้องดื่มสารทึบรังสี/น้ำเปล่า และ/หรือ สวนสารทึบรังสี/น้ำเปล่า เข้าทางทวารหนัก เพื่อแยกลำไส้ออกจากเนื้อเยื่ออื่นๆ ของช่องท้อง และ ในผู้ป่วยหญิงอาจต้องใส่ผ้าอนามัยชนิดสอดภายในช่องคลอด เพื่อแยกช่องคลอดออกจากเนื้อเยื่ออื่นๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของรังสีแพทย์
นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องฉีดสารทึบรังสีเข้าทางหลอดเลือดดำเพื่อช่วยให้เห็นพยาธิสภาพของโรคชัดเจนขึ้น

เครื่องตรวจวินิจฉัยโรคเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan)

ระบบกระดูก กล้ามเนื้อ ข้อต่อและกระดูกสันหลัง ซึ่งมักใช้ในการวินิจฉัยโรคเนื้องอกของกล้ามเนื้อ กระดูก หรือการอักเสบของข้อต่อต่างๆ และลักษณะทางกายวิภาคของกระดูกสันหลัง โดยสามารถให้การวินิจฉัยโรคกระดูกได้ดีกว่าการตรวจเอกซเรย์ทั่วไป
ระบบหลอดเลือด ได้แก่ การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ของหลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดแดงใหญ่ หลอดเลือดแดงไต และหลอดเลือดแดงที่ขา เป็นต้น
ในการตรวจนี้จำเป็นต้องฉีดสารทึบรังสีเข้าทางหลอดเลือดดำ

เครื่องตรวจวินิจฉัยโรคเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan)

ก่อนรับการตรวจ CT scan ควร…
งดอาหารและน้ำดื่มอย่างน้อย 4 -6 ชั่วโมงก่อนการตรวจ
ลงชื่อในใบยินยอมให้แพทย์ทำการตรวจและฉีดสารทึบรังสี
ในผู้ป่วยเด็กต้องได้รับยาระงับความรู้สึกหรือดมยาสลบขณะตรวจ โดยบิดามารดาต้องลงชื่อในใบยินยอมด้วย
ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น หอบหืด ภูมิแพ้ โรคไต โรคหัวใจและโรคเบาหวาน ควรแจ้งให้พยาบาลทราบทันที
ควรมีญาติมาด้วยอย่างน้อย 1 คนในวันตรวจ
เปลี่ยนเสื้อผ้าที่ห้องตรวจเตรียมไว้ให้ และถอดเครื่องประดับออกจากบริเวณที่ต้องการตรวจ
ในกรณีที่ผู้ป่วยตรวจภายในช่องท้อง ต้องดื่มสารทึบรังสีหรือน้ำเปล่า ประมาณ 3-4 แก้ว ก่อนเข้าห้องตรวจ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบริเวณที่ต้องการตรวจ
ขั้นตอนขณะรับการตรวจ CT scan

พยาบาลหรือเจ้าหน้าที่รังสีพาผู้ป่วยเข้าห้องตรวจ และจัดท่าของผู้ป่วยให้เหมาะสมกับการตรวจ ในกรณีที่ผู้ป่วยทำการตรวจช่องท้องส่วนล่าง จะได้รับการสวนสารทึบรังสีเข้าทางทวารหนักประมาณ 100-200 ซีซี. และในผู้ป่วยหญิง อาจต้องใส่ผ้าอนามัยชนิดสอดเข้าทางช่องคลอด เพื่อแยกช่องคลอดออกจากเนื้อเยื่ออื่นๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของรังสีแพทย์
จะฉีดสารทึบรังสีทางหลอดเลือดดำ เพื่อให้ภาพเอกซเรย์ชัดเจน ในระหว่างการฉีดสารทึบรังสีอาจจะรู้สึกร้อนวูบวาบตามร่างกายประมาณ 1-2 นาที ซึ่งอาการนี้จะหายไปได้เอง
ระหว่างตรวจจะได้ยินเสียงดังจากเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ควรนอนให้นิ่งและปฏิบัติตามคำแนะนำของนักรังสีเทคนิคอย่างเคร่งครัด
หากมีอาการผิดปกติ เช่น แน่นหน้าอก หายใจลำบาก มีผื่นคัน คลื่นไส้อาเจียน ต้องบอกเจ้าหน้าที่หรือพยาบาลให้ทราบทันที
การปฏิบัติตัวหลังการตรวจ CT scan

ผู้ป่วยรับประทานอาหารได้ตามปกติ และควรดื่มน้ำอย่างน้อย 1-2 ลิตรภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อช่วยขับสารทึบรังสีออกจากร่างกายโดยเร็ว
หลังตรวจถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น ผื่นขึ้น แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ต้องรีบแจ้งให้เจ้าหน้าที่ห้องตรวจทราบทันที
การทราบผลการตรวจ

ผู้ป่วยมาตรวจตามวันที่แพทย์นัดหมาย ไม่ต้องมารับผลการตรวจที่แผนกเอกซเรย์ โดยผลการตรวจจะถูกส่งเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของโรงพยาบาล ซึ่งแพทย์ผู้ตรวจสามารถเรียกดูผลการตรวจและภาพเอกซเรย์ผ่านระบบคอมพิวเตอร์ที่ห้องตรวจ

ข้อควรระวังของการตรวจด้วยเครื่อง CT scan

ผู้ที่มีประวัติโรคภูมิแพ้ หอบหืด มีประวัติผื่นขึ้นภายหลังรับประทานอาหารทะเล หรือมีอาการแน่น หายใจไม่ออก และผู้ที่มีประวัติแพ้สารทึบรังสี ต้องแจ้งให้พยาบาลประจำห้องตรวจทราบก่อน
ผู้ป่วยที่เป็นโรคไต หรือการทำงานของไตไม่ดี ควรปรึกษาแพทย์ก่อน
สตรีที่ตั้งครรภ์
กรณีของผู้ป่วยที่สงสัยการตั้งครรภ์ โปรดแจ้งเจ้าหน้าที่หรือ รังสีแพทย์ก่อนเริ่มทำการตรวจ

อันตรายที่ยังคงมีอยู่
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยผู้ป่วยที่รับการฉายรังสีด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) อาจได้รับรังสีมากกว่าการถ่ายภาพเอกซเรย์วินิจฉัยทั่วไป ซึ่งรังสีที่ผู้ป่วยจะได้รับมากน้อยนั้นมีหลายปัจจัย เช่น ขอบเขตการสแกนอวัยวะ รูปร่างของผู้ป่วย เด็กหรือผู้ใหญ่เป็นต้น ทั้งนี้การเอกซเรย์นั้นต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์เพื่อความปลอดภัยของประชาชน

       นายแพทย์จักรธรรม ธรรมศักดิ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์(CT Scan) ได้มีการพัฒนาขีดความสามารถในการตรวจได้เร็วขึ้นและสามารถตรวจร่างกายได้หลายส่วน การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ถือเป็นการตรวจหลักในการวินิจฉัย ค้นหาและติดตามผลการรักษาโรค จากการสำรวจของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยกองรังสีและเครื่องมือแพทย์ เมื่อปี 2551 พบว่า เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทั่วประเทศมีทั้งหมด 343 เครื่อง อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 52 เครื่อง ทั้งนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ตระหนักถึงปัญหาและความเสี่ยงจากการได้รับปริมาณรังสีจากการเข้ารับการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ CT Scan จึงได้ดำเนินการตรวจสอบคุณภาพและวัดปริมาณรังสีที่ผู้ป่วยได้รับจากการถ่ายภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ในโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน โดยห้องปฏิบัติการของศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ขอนแก่น จำนวน 19 เครื่อง ใน 7 จังหวัดที่รับผิดชอบได้แก่ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม กาฬสินธุ์ สกลนคร นครพนม และมุกดาหาร
       
       จากการสำรวจในเทคนิคพื้นฐาน คือ เอกซเรย์สมอง ช่องท้อง และปอด พบว่ามีปริมาณรังสีเฉลี่ยจากการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สูงกว่าปริมาณรังสีจากการเอกซเรย์วินิจฉัยทั่วไปที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ขอนแก่นได้ทำการประเมินไว้ ดังนี้คือ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องท้องจะได้รับรังสี 5.5 มิลลิเกรย์ สูงกว่าการเอกซเรย์วินิจฉัยทั่วไปที่ผู้ป่วยได้รับเพียง 2.3 มิลลิเกรย์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปอดได้รับรังสี 5.9 มิลลิเกรย์ สูงกว่าการเอกซเรย์วินิจฉัยทั่วไปที่ผู้ป่วยได้รับเพียง 0.2 มิลลิเกรย์เท่านั้น
       
       ทั้งนี้ข้อมูลจากการตรวจสอบคุณภาพและปริมาณรังสีมีผู้ป่วยได้รับจากการถ่ายภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ดังกล่าว กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะได้นำมาใช้เป็นข้อมูลสาธารณสุขทางการแพทย์เพื่อให้หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ใช้ประกอบในการพิจารณาและวางแผนในการป้องกันและควบคุมอันตรายจากรังสีต่อไป
       
       นายศิริพงษ์ ณ น่าน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ขอนแก่น กล่าวเพิ่มเติมว่า รังสีที่ผู้ป่วยจะได้รับจากการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์นั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ได้แก่ ขอบเขตการสแกนอวัยวะ รูปร่างของผู้ป่วย ความละเอียดและจำนวนในการตัดภาพรังสี นอกจากนี้ต้องแยกระหว่างการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ด้วย
       
       อย่างไรก็ตามการจะใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์นั้น ควรจะใช้ก็ต่อเมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าจำเป็นต้องใช้เท่านั้น และเครื่องฉายรังสีก็ต้องผ่านการตรวจสอบคุณภาพจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เวลาใช้จะต้องมีนักเทคนิคเป็นผู้ควบคุมเครื่องมือ และควรพิจารณาทางเลือกอื่นที่ให้ผลตรวจใกล้เคียงกัน เช่น การตรวจเกี่ยวกับลำไส้และกระเพาะอาหาร การวินิจฉัยโรคด้วยเอกซเรย์วินิจฉัยทั่วไปหรือ อัลตราซาวด์ก็เพียงพอ หรือในกรณีที่ตรวจกระดูกและกล้ามเนื้อ การตรวจด้วยคลื่นสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ก็เป็นตัวเลือกที่ดีกว่า ซึ่งจะทำให้การได้รับปริมาณรังสีน้อยลง มีความปลอดภัยจากและประหยัดค่าใช้จ่ายด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น